จากแนวคิดที่ไม่ขึ้นกับความนิยมของยุคสมัยของบทความนี้ มีจุดประสงค์ทางด้านอื่นซึ่งเป็นความสำคัญบางอย่างเกี่ยวพันไปถึงพัฒนาการของการประยุกต์ใช้ BIM ในขั้นเริ่มต้น ด้วยเหตุผลบางอย่างที่นำมาอ้างอิงเพื่อหาคำตอบของปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้น การเปลี่ยนความเชื่อซึ่งนำมาถึงทัศนคติไม่ใช่เรื่องง่าย การเปลี่ยนแปลงระบบจากเดิมไปสู่ระบบใหม่ไม่สามารถทำได้เพียงพริบตา ความเชื่อยังคงฝังอยู่ในตัวตนที่แตกต่างกัน
BIM ไม่ใช่สิ่งใหม่เสียทีเดียว แต่มันพัฒนาขึ้นจากการแสวงหาวิธีแก้ไขข้อผิดพลาดในการทำงานประกอบกับการใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้นจึงต้องการกระบวนการทำงานอย่างบูรณาการ ในยุคแรกแนวคิดกระบวนการทำงานนี้เกิดขึ้นมาก่อนแล้วผนวกกับเทคโนโลยีที่แสดงผล 3 มิติทำให้แนวคิดถูกทำขึ้นเป็นกระบวนการของ BIM และถูกครอบครองชื่อจากผู้ผลิตเครื่องมือในตลาดของอุตสาหกรรมการก่อสร้าง
ความเชื่อ
มนุษย์อยู่กับความเชื่อด้านต่างๆ มาอย่างยาวนาน สิ่งเหล่านี้สร้างความโน้มเอียงของสังคมไปในรูปแบบที่หลากหลาย เชื่อถูก, เชื่อผิด ด้วยจินตนาการ ในวิกิพีเดียให้ความหมายว่า “ความเชื่อ คือ ความมั่นใจในสิ่งที่หวังไว้ เป็นความแน่ใจในสิ่งที่มองไม่เห็น”
ในความเชื่อที่เกี่ยวกับ BIM ในยุคแรกที่เข้ามามีบทบาทกับการทำงานทำให้เกิดความระแวงหรือกลัวจากสิ่งที่มองไม่เห็นหรือไม่เข้าใจหลังจากได้สัมผัสหรือเกิดแรงกดดันจากภายนอกให้นำไปใช้งาน ด้วยการสร้างความเชื่อใหม่ว่าจะได้ผลประโยชน์ ทำให้มีการทำซ้ำจนแน่ใจว่าผลลัพธ์ที่จะได้พอเพียงกับความต้องการ ความเชื่ออีกรูปแบบเข้ามาแทนที่คนทำงานที่ผ่านประสบการณ์นี้แล้ว
แหล่งความเชื่อ
ความคิด, การไตร่ตรอง ในมนุษย์มีองค์ประกอบของความเชื่อด้วยการรับรู้จากประสาทสัมผัสทำให้เข้าใจได้ต่างๆ นานา นำไปสู่ความเบี่ยงเบนที่ยึดมั่นอย่างผิดรูปแบบ ตัวอย่างหนึ่งของกาลามสูตรทำให้เข้าใจว่าควรไตร่ตรองก่อนไม่ควรเชื่อตัวอย่าง เช่น
- การฟังเพราะเขาบอกว่ามีสรรพคุณที่สูงส่งแต่ไม่ได้บอกด้านลบ
- การสืบทอดมายาวนาน คำเล่าลือจากคนส่วนใหญ่เชื่อ หรือเชื่อตามที่เคยทำกันมา
- การอ้างตำราหรือคัมภีร์ การใช้ตรรกะด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผลเพราะหลักการอาจจะใช้กับเราไม่ได้
- การคาดคะเน การเห็นด้วยตาแล้วแสดงออกว่าเป็นไปได้ แต่ไม่บอกว่าต้องผ่านกระบวนการอย่างไร?
- การใช้ทฤษฎีหรือทิฏฐิของตนหรือตามอคติในใจ
- เชื่อเพราะผู้พูดน่าเชื่อถือ หรือเป็นองค์กรที่น่าเชื่อถือ หรือเพราะเป็นผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรง
- เชื่อเพราะเคารพนับถือว่าคนพูดเป็นผู้รู้, ผู้นำทางจิตวิญญาณของเรา, เป็นครูของเรา, เป็นศาสดาของเรา
ด้วยสื่อที่เข้าถึงได้ง่ายเพียงหยิบแล้ววาง ทำให้กระแสความเชื่อมีผลต่อทัศนคติในสังคม เรารับรู้เรื่อง BIM ว่ามีคุณประโยชน์มากมายจากผู้ผลิตเครื่องมือ เราเห็นจากการแสดงผลงานจากต่างประเทศ เราตีความว่าถ้าเป็นอย่างนี้เราก็จะทำได้อย่างนั้นแล้วนำวิธีคิดมาสู่การใช้งาน โดยเชื่อว่าเทคโนโลยีสามารถแก้ได้ทุกปัญหาด้วยวิธีการใหม่
นำไปสู่การใช้งาน
เราจัดเรียงข้อมูลที่เข้ามาสร้างความเชื่อที่ถูกนำไปใช้งานอย่างมีขั้นตอนด้วยหลักคิด, สร้างแนวทาง, ทดลองทำ, แล้วสรุปผลเพื่อนำมาปรับปรุงการทำงาน การใช้ BIM มากขึ้นเพราะเชื่อว่าจะเป็นอนาคตที่ดีในการทำงาน จากผลการสำรวจมีข้อสังเกตในการใช้ BIM ทุกแหล่งมักจะระบุถึงความต้องการผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้เพื่อขับเคลื่อนกระบวนการทำงานมากพอๆ กับผู้ที่ใช้เครื่องมือเป็น Randy Deutsch ผู้เขียน BIM and Integrated Design ได้ระบุว่า “ผู้ออกแบบต้องเป็นเจ้าของกระบวนการทำงานที่พวกเขาสร้างขึ้น” เพื่อนำไปสู่ความท้าทายในการประยุกต์ใช้ BIM จะต้องผ่านประสบการณ์เพื่อพัฒนาการนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง
ความเข้าใจผิดจากความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง มีผลต่อการเริ่มต้นการใช้ BIM ไม่เพียงแต่เป็นการเปิดเครื่องเพื่อสร้าง Model แต่ความยั่งยืนของหน่วยงานก็คือ การสร้างกระบวนการทำงานของตนเองที่สร้างผลิตผลนำส่งให้ผู้ว่าจ้างตรงตามความต้องการ เราจะใช้ความเชื่ออย่างถูกต้องมาสร้างวิธีการทำงานบนความยั่งยืนหรือสร้าง Model เพียงอย่างเดียวเพื่อส่งงาน?
ทรงพล ยมนาค
Songphol Yomnak