งานออกแบบและก่อสร้างที่ซับซ้อนด้วยเทคนิคและเทคโนโลยีในปัจจุบันต้องการเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ เช่น BIM เข้ามาเสริมให้การทำงานนั้นดีขึ้น แต่เมื่อมีเทคโนโลยีที่เป็นดิจิทัลมากขึ้นทำให้กระบวนการทำงานถูกรบกวนจากรูปแบบเดิมทำให้เกิดหน้าที่ใหม่ๆ เข้ามามีส่วนร่วม มีกรอบการทำงานที่ไม่เคยต้องทำ มีการลงทุนมากขึ้น และอื่นๆ จนในที่สุด BIM กลายเป็นส่วนเพิ่มที่ใช้ประกอบการส่งงานตามข้อกำหนดการจ้าง มากกว่าการใช้ประโยชน์จากมัน ด้วยความซับซ้อนการเข้าถึงการใช้งานต้องผ่านการฝึกอบรมจากผู้เชี่ยวชาญที่ยังไม่มีการรับรองคุณภาพ มีคำพูดหนึ่งที่สะท้อนอะไรบางอย่างเกี่ยวกับการปฏิบัติวิชาชีพ
“สร้าง Model ได้แต่นำไปใช้งานไม่ได้”
ก่อนที่ผู้ว่าจ้างจะรู้ว่าผลงานนี้ใช้ไม่ได้ก็สายเกินไป ความซับซ้อน, ระเบียบวิธี, มาตรฐาน, ความรับผิดชอบ, ทัศนคติ, อะไรคือหลักคิดของสิ่งเหล่านี้? ที่ทำอยู่ปัจจุบันเดินไปถูกต้องหรือต่างคนต่างทำ? ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้มีหลักคิดของตัวเองหรือหลักคิดที่มีมาตรฐาน? มาตรฐานเล่มไหนคือแนวทางการทำงาน? แน่ใจหรือไม่ว่าเข้าใจถึงวิธีใช้มาตรฐาน? ทุกอย่างดูยากไปหมดและสับสน ขณะที่งานต้องเดินหน้าไปแล้วเราจะทำอย่างไร?
ความท้าทายของยุคสมัย
ไม่ต่ำกว่า 2 ยุคของการปรับเปลี่ยนระบบการทำงานจากการเขียนแบบด้วยดินสอบนกระดาษไขไปสู่การเขียนด้วยปากกาไปสู่การใช้คอมพิวเตอร์ด้วย CAD Software ถึงแม้ว่าการแสดงภาพด้วยเส้นเป็น View ต่างๆก็ยังเป็นแนวคิดของ 2D ซึ่งมีภาระงานไม่ต่างจากการเขียนด้วยมือแต่มีความละเอียดสูงขึ้น องค์ประกอบการทำงานที่เป็นมาตรฐานเริ่มเข้ามามีส่วนทำให้คนใช้งานต้องปรับเช่น Line type, Color, Layer, Plot style, Text style แต่ในที่สุดทุกคนก็ทำได้เป็นส่วนหนึ่งของการทำงานจนทุกคนที่เขียนแบบด้วย CAD ระยะเวลากว่า 20 ปีที่มีการเปลี่ยนแปลงถูกลบเลือนจากความทรงจำ จนถึงยุคปัจจุบันที่ BIM เริ่มเข้ามาสร้างผลกระทบกับการทำงานดั้งเดิม ปัญหามากกว่าในยุค CAD มากมาย มีคำย่อ มีภาษา มีวิธีการทำงาน นอกจากเครื่องมือที่อ้างว่ามีราคาแพง ความยากลำบากเหล่านี้ทำให้การปรับตัวเข้าหาวิธีการทำงานที่เหมาะสมทำได้ยาก “ถ้าการปฏิบัติวิชาชีพมันยุ่งเหยิงมีทั้งเทคโนโลยี มีทั้ง BIM เรากลับมาพูดคุยกับด้วยวิธีการทำงานที่ง่าย ภาษาง่ายๆให้ทุกฝ่ายทำงานร่วมกันได้จะดีไหม?” คงไม่ยากนักถ้าจะทดลองทำ

มุมมองที่แตกต่าง
สาระของการใช้ BIM คือการสื่อสารเชื่อมโยงข้อมูลสร้างภาพเสมือนจริงก่อนงานนั้นจะเกิดขึ้นให้ผู้ร่วมงานทุกฝ่ายเข้าใจแล้วนำไปประมวลผลตามหน้าที่ของตน มนุษย์คือต้นทุนการทำงาน การสื่อสารด้วยวิธีง่ายๆ ให้มนุษย์เข้าใจทำงานร่วมกันมากกว่าการโต้แย้งกันทำให้เกิดผลต่องานนั้น สื่อสารด้วยภาษาง่ายอธิบายได้อย่าชัดเจนมากกว่าใช้ศัพท์หรือคำย่อที่สร้างความงุนงง แล้วเริ่มต้นใหม่ด้วยความเข้าใจเพราะความสามารถและวุฒิภาวะที่แตกต่างกันต้องพึ่งพาการเสริมทักษะ หน้าที่และความรับผิดชอบใช้ BIM ซึ่งเป็นเครื่องมือประกอบการปฏิบัติวิชาชีพมากกว่าทำทุกอย่างตาม BIM เราต้องการอะไรจาก BIM มากกว่าเอาความต้องการของ BIM มาทำงานโดยมีหลักการทำงานที่อ้างอิงมาตรฐานมากกว่าหลักตามจินตนาการของตนเอง
ข้อคิดบางอย่างสำหรับการใช้ BIM ซึ่งอาจจะแตกต่างจากผู้อื่นหรือไม่ใช่สิ่งที่นิยมทำกันคงจะช่วยตอบคำถามข้างต้นได้บ้าง เช่น
- ปฏิบัติวิชาชีพด้วยการใช้เครื่องมืออย่างฉลาดโดยไม่ตกเป็นทาสของมัน
- ทำ BIM จากเล็กไปจนใหญ่ให้ง่ายๆ ก่อนแล้วสร้างความเข้าใจเพราะมันมีแต่ความซับซ้อน
- อีกไม่นานเทคโนโลยีใหม่ก็เข้ามาอีกแต่วิธีการปฏิบัติวิชาชีพยังเป็นหลักจงทำความเข้าใจกับธรรมชาติของมัน
- คำศัพท์, คำย่อ, ภาษาที่มากมาย ทำความเข้าใจทีละขั้นแล้วสื่อให้ผู้ร่วมงานด้วยภาษาง่ายๆ
- มาตรฐาน BIM ในโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือเกิดใหม่ทุกวัน ต้องเข้าใจโครงสร้างของมันอย่างถูกต้อง
- Software แต่ละค่ายมีหลักคิดของตัวเองและมีความสามารถเฉพาะทางจะเข้าถึงได้ด้วยหลักคิดและโครงสร้างของมัน
- การสร้างงานที่ซับซ้อนจนผู้อื่นไม่สามารถเข้าใจได้จะทำให้ท่านลำบากหลังจากเริ่มแบ่งปันให้ผู้อื่น
- BEP หรือข้อกำหนดการทำงานจะต้องทำขึ้นจากการทำงานได้จริงไม่ใช่รวมทุกอย่างไว้จนทำงานไม่ได้
- ผลิตผลที่ทำสำเร็จแล้วเมื่อส่งมอบให้ผู้อื่นไปทำต่อต้องแน่ใจว่าถูกต้องและมีข้อมูลเพียงพอ
- การทำงานด้วย BIM เสมือนสายพานการผลิตเมื่อนำส่งงานที่ถูกต้องจะไม่มีภาระงานภายหลัง
- วางระบบงานให้ง่ายและเข้าใจได้จากผู้ร่วมงานเพราะการรับรู้หรือทักษะแต่ละคนแตกต่างกัน
ทั้งที่รู้ว่าไม่ใช่ง่ายสำหรับการทำให้ได้ในพริบตาแต่ความพยายามทดลองและการนำมาไตร่ตรองเพื่อหาคำตอบที่เหมาะสมเกิดขึ้นตลอดเวลา คำถาม อะไร ทำไม เมื่อไร แล้วอย่างไร? ยังใช้ได้ผลเสมอ
ทรงพล ยมนาค
Songphol Yomnak