BIM | LOD 500
เมื่อกล่าวถึง LOD ผู้ที่ใช้ BIM คงคุ้นเคยกับคำศัพท์นี้อย่างดีอยู่แล้ว ระดับความละเอียดของเนื้อหาต่างๆถูกระบุให้ผู้ร่วมงานทุกฝ่ายปฏิบัติตามขั้นตอนการทำงานทั้งความละเอียดทางเรขาคณิตและความละเอียดของข้อมูล โดยทั่วไปนักสร้าง Model ก็ต้องสร้างให้เป็นไปตามความต้องการที่ระบุในเงื่อนไขของ BEP แล้วส่งไปทำการ Coordination ภาระงานที่เกิดจากการปรับแก้และการประสานงานระหว่างหน้าที่อื่นๆเป็นประสบการณ์ที่ไม่รู้จบ ผู้ที่ผ่านงานคงได้พบเงื่อนไขการสร้าง Model ให้มี LOD 500 และความยากลำบากเพื่อประกอบทุกส่วนเพื่อส่งงาน LOD 500 คือเงื่อนไขการส่งงานหรือเปล่า? LOD 500 คือความละเอียดที่ผู้ร่วมงานต้องทำให้เท่ากันหรือเปล่า? LOD 500 คือสิ่งที่ใครจะต้องทำ? LOD 500 คือประโยชน์สูงสุดที่เจ้าของโครงการหรือเปล่า?
LOD 500 คนกำหนดควรได้อะไร?
เรามักจะพบเงื่อนไขการทำงานระบุให้ทำงานด้วย BIM และส่ง Model ที่มีความละเอียดที่ LOD 500 สำหรับงานก่อสร้างเพียงเท่านั้นโดยไม่มีรายละเอียดมากกว่านี้ทำให้เกิดคำถามตามมาว่าใครต้องทำแค่ไหน? ผู้ว่าจ้างการทำงานต้องการใช้ BIM ที่มีความละเอียดสูงโดยเข้าใจว่าคือสิ่งที่เป็นมูลค่าสำหรับอาคารที่จะได้รับมอบแต่ในความเป็นจริงข้อมูลทรัพย์สินที่ประกอบการบริหารอาคารแตกต่างจากการส่งงานด้วย LOD 500 ความเข้าใจนี้อาจจะเกิดจากการได้รับคำปรึกษาที่บอกต่อกันมาหรือจินตนาการจากการตีความที่คาดเคลื่อนของ LOD สิ่งที่เจ้าของโครงการควรได้รับก็คือข้อมูลทรัพย์สินที่มีพัฒนาการจากการทำงานแต่ละขั้นตอนไปจนถึงการส่งมอบอย่างไม่ตกหล่นและตรงตามการนำไปใช้บริหารอาคาร
LOD 500 เป็นอย่างไร?
การกำหนด Definition ของ LOD ส่วนใหญ่อ้างอิงจาก AIA Document E203–2013 ที่มีคำอธิบายไว้ตามหัวข้อดังนี้
Model Element Content Requirements. The Model Element is a field verified representation in terms of size, shape, location, quantity, and orientation. Non-graphic information may also be attached to the Model Elements.
ในแต่ละภูมิภาคมีการกำหนด LOD ที่แตกต่างกันเช่นการระบุตามขั้นตอนการทำงาน การกำกับด้วยตัวเลข การระบุตามระดับความต้องการข้อมูลจะเห็นได้ว่า ในแต่ละประเทศเช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ยุโรป ฮ่องกง สิงคโปร์ หรือประเทศไทยตามเอกสารของสมาคมสถาปนิกสยามฯ “แนวทางการใช้งานแบบจำลองสารสนเทศอาคาร สำหรับประเทศไทย (Thailand BIM Guideline) ฉบับปี พ.ศ.2558 มีคำอธิบายไว้ในข้อ 2.3 ซึ่งระบุความละเอียดตามขั้นตอนการทำงานและมีหมายเหตุว่า “ระดับขั้นตอนของ LOD ที่กำหนดเป็นขั้นตอนของการทำงาน ซึ่งจะใช้สำหรับประเทศไทยนี้ ยังไม่ควรนำไปเปรียบเทียบกับระดับขั้นของ LOD ที่กำหนดเป็นค่าตัวเลข เนื่องจากแต่ละประเทศที่ใช้มีการกำหนดค่าตัวเลขแตกต่างกัน และมีรายละเอียดของข้อมูลที่แตกต่างกันแม้จะมีค่าตัวเลขเดียวกัน” ทั้งหมดได้แสดงภาพประกอบในตารางที่ 2.2 ในส่วนมาตรฐาน ISO 19650 ยังระบุการกำหนดระดับของข้อมูลที่ใช้งานเป็น Level of Information need ซึ่งมีความยืดหยุ่นตามความต้องการของข้อมูล
LOD 500 ใช้กันอย่างไร?
ตามเอกสารของ BIM Forum มีคำอธิบายไว้ว่า “LOD Specification ถูกจัดระเบียบโดย CSI Uniformat 20102 โดยมีคลาสย่อยขยายเป็นระดับ 4 (และในบางกรณีเป็นระดับ 5) ให้รายละเอียดและความชัดเจนของคำจำกัดความองค์ประกอบ LOD Specification ระบุเฉพาะ LOD 100 ถึง LOD 400 ของ LOD ของ AIA Schema พร้อมกับระดับใหม่คือ – LOD 350 – ซึ่งถูกเพิ่มระหว่าง LOD 300 และ LOD 400 เพื่อให้สามารถระบุระดับข้อมูลได้ดียิ่งขึ้นที่จำเป็นสำหรับการประสานงานการค้าที่มีประสิทธิภาพ ข้อกำหนด LOD ไม่ได้ระบุ LOD 500 เนื่องจาก LOD นั้นเกี่ยวข้องกับการตรวจสอบภาคสนามและไม่ได้บ่งบอกถึงความก้าวหน้าไปสู่ระดับที่สูงขึ้นของรูปทรงเรขาคณิตหรือข้อมูล” มีคำอธิบายดังนี้
LOD 500 [NOT USED]
The Model Element is a field verified representation in terms of size, shape, location, quantity, and orientation. Non-graphic information may also be attached to the Model Elements.BIMForum interpretation. Since LOD 500 relates to field verification and is not an indication of progression to a higher level of model element geometry or non-graphic information, this Specification does not define or illustrate it.
ในระดับของ LOD 500 คือการเก็บข้อมูลจากงานในสนามจากการสำรวจด้วยตาเปล่าหรือการใช้เครื่องมือสำรวจประกอบกับข้อมูลใน Model ส่วนของ BIMForum จึงไม่แสดงภาพความละเอียดให้เห็น อีกด้านหนึ่งคือ Model สำหรับงานระบบจะมีความแตกต่างและเนื้อหาของความละเอียดของอุปกรณ์ ในมาตรฐานของฮ่องกงระบุให้มีความละเอียดของรูปทรงเรขาคณิตที่ LOD 300 หรือ 400 ตามลักษณะงาน ผนวกกับความละเอียดของ Information 500 โดยมีรายการประกอบ

LOD 500 ไม่ใช่ข้อมูลประกอบการส่งงาน
LOD เป็นสิ่งที่ใช้ในการร่วมมือการทำงานจากข้อมูลทางเรขาคณิตและข้อมูลทรัพย์สินให้ทุกฝ่ายนำไปใช้งานร่วมกันจนถึงการส่งมอบงาน การนำเอา LOD เป็นเงื่อนไขในการส่งงานเป็นปัญหาในการประสานงานซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการใช้ BIM เมื่อการทำงานได้ถูกพัฒนาในรูปแบบอื่นความต้องการข้อมูลมีความละเอียดและแตกต่างในการใช้งานการกำหนด LOD ที่มีแกนของฐานข้อมูลเพียง LOI หรือ LOG จึงไม่เพียงพอเพราะสิ่งที่เราต้องการอีกก็คือ Documentation ซึ่งได้ถูกนำมาใช้มากขึ้นจากมาตรฐานหลัก การระบุ LOD ในเงื่อนไขการทำงานจึงไม่สามารถสร้างคุณประโยชน์ได้มากกว่าการระบุให้ได้ตามความต้องการ Asset Information ซึ่งมาจากนโยบายการทำงานขององค์กร
ดังที่กล่าวมาแสดงให้เห็นมุมมองหนึ่งของการทำงานและคำอธิบายจากมาตรฐานต่างๆ สำคัญที่ถ้ากำหนด LOD เราจะใช้ฉบับไหนของใครประกอบการทำงานเพราะแต่ละฉบับมีความแตกต่าง หรือกำหนดเองตามความต้องการสิ่งเหล่านี้อยู่ที่การตกลงกันก่อนเริ่มงานบนความเข้าใจร่วมกัน
ทรงพล ยมนาค
Songphol Yomnak