BIM | กับความท้าทาย
เป้าหมายหนึ่งที่หลายฝ่ายอ้างว่าต้องการในการใช้ BIM เพื่อนำ BIM Model ไปบริหารอาคาร เพื่อนำไปแก้ไขข้อขัดแย้งจากการออกแบบ เพื่อการประมาณราคาของโครงการ และอื่นๆ อีกมากมาย
ความคาดหวังที่ใช้เครื่องมือเป็นกลไกแทนการทำงานจากคนที่มีความเบี่ยงเบนหรือความผิดพลาดของข้อมูลทำให้จินตนาการสูงเกินกว่าความเป็นจริง
อย่างไรก็ตามในปัจจุบันคนยังต้องเป็นผู้ตัดสินหรือเลือกใช้ข้อมูลที่ถูกต้องและสอดคล้อง การเพิ่มคุณภาพของเนื้องานผ่านระบบการทำงานโดยเครื่องมือทางเทคโนโลยีที่ควบคุมด้วยคนถูกนำมาใช้มากขึ้น หมายถึงผู้ปฏิบัติงานต้องพัฒนาตัวเองเพื่อรองรับสถานะการทำงานที่เป็นระบบมีกรอบการทำงานในหน้าที่รับผิดชอบบนกระบวนการผลิตอย่างต่อเนื่อง
ความเข้าใจที่คาดเคลื่อน
ความเข้าใจเกี่ยวกับ BIM ยังหลากหลายทำให้มีจินตนาการการใช้งานแตกต่างกัน บ้างก็ใช้เพื่อการปฏิบัติวิชาชีพ บ้างก็ใช้เพื่อผลทางการตลาด บ้างก็ใช้เพื่อทำให้โครงการมีภาพพจน์ที่สมกับราคา บ้างก็ใช้เป็นสิ่งประกอบการส่งงาน
การกำหนดความต้องการใช้ BIM ใน TOR อาจจะมีข้อความเงื่อนไขเพียงไม่กี่บรรทัด ไม่เพียงพอที่จะทำให้ผู้เสนอการทำงานตอบสนองได้ (แต่ก็ทำกันอยู่) กรณีงานเอกชนสามารถระบุความต้องการที่เจาะจงได้ แต่กรณีงานราชการไม่แน่ใจว่าจะเป็นการสร้างเงื่อนไขเจาะจงประกอบการเสนอราคาหรือไม่?
ความต้องการใช้ BIM จึงเป็นประเด็นหนึ่งที่ถูกยกขึ้นมาเมื่อเกิดข้อพิพาทในอนาคต
วุฒิภาวะของคนทำงาน
ความสามารถของผู้เชี่ยวชาญ BIM ยังไม่ชัดเจนถึงแม้ว่ามีการกำหนดตำแหน่งหน้าที่ด้านต่างๆ บางหน่วยงานพยายามสร้างตัวชี้วัดในระดับพื้นฐานวิชาชีพแต่ก็ยังเพียงแค่เริ่มต้น ปัญหาใหญ่ในวงการก็คือวุฒิภาวะของตำแหน่งงานที่มีความสำคัญในการบริหารงานไม่เพียงพอที่จะผลักดันโครงการได้ หน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ร่วมงานในตำแหน่งต่างๆ ยังคลุมเครือ ซึ่งจะนำไปสู่ความเสียหายในอนาคต
การพัฒนาระดับความสามารถจึงเป็นความสำคัญ
หลักสูตรการเรียนรู้
การจัดการข้อมูล, การใช้มาตรฐานในการทำงาน, การประสานงาน, ระเบียบวิธีการบริหารงาน และอื่นๆ ที่สำคัญยังไม่ได้บรรจุไว้ในการเรียนการสอนหรือสร้างความรู้แก่ผู้ที่อยู่ในวงการ ถึงแม้ว่าภาคการศึกษาเริ่มมีกิจกรรมการสอนมากขึ้นแต่ก็อยู่ในกรอบการสร้าง BIM Model การนำข้อมูลมาใช้แต่ขาดการสื่อสารการทำงาน, การจัดการข้อมูล และการบริหารจัดการ แผนการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ด้วยหลักสูตรการสอนจากผู้มีประสบการณ์เป็นความต้องการในตลาด
ต้นทุนในการทำงาน
การใช้ BIM มีต้นทุนสูงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ถูกอ้างถึงเมื่อกล่าวถึงการพิจรณาในการใช้ BIM ต้นทุนคนที่ต้องการฝึกอบรมการพัฒนาทักษะและยกระดับความสามารถ ต้นทุนเครื่องมือที่มีราคาแพงก็เป็นอีกประเด็นที่กล่าวกันมาก ในความเป็นจริง ของฟรี ของถูกไม่ทำได้จริง ถึงแม้ระยะแรกอาจจะใช้ฟรีระยะหนึ่งแต่ในที่สุดก็ต้องจ่ายเงิน
ทางเลือกอีกทางคือใช้โปรแกรมจาก Open source ที่เริ่มมีให้ใช้มากขึ้น การพัฒนาเครื่องมือผ่านการลงทุนสูงเพื่อตอบสนองการใช้งาน ในรอบการเปลี่ยนผ่านจากการทำงานพื้นฐานไปสู่การใช้ CAD ก็เป็นเช่นนี้
ปัจจุบันก็ใช้กันอย่างแพร่หลาย
สร้างความพร้อม
ทิศทางของวิชาชีพที่ต้องการคุณภาพพัฒนาไปตามเทคโนโลยีใหม่เสมอ ผู้ปฏิบัติงานต้องปรับเข้าหาอย่างชาญฉลาดด้วยความเหมาะสม เราเรียนรู้จากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นด้วยทัศนะคติและวัฒนธรรมการทำงานที่มีรากฐาน ทำให้รูปแบบการทำงานตามสภาวะของเราต้องถูกรบกวนจากกระบวนการทำงานที่มาจากเทคโนโลยีใหม่ การสร้างความแข็งแรงจากฐานความรู้ที่ถูกต้องแล้วดัดแปลงมาเลือกใช้อย่างเหมาะสมทำให้ตอบโจทย์ความต้องการที่แท้จริง
ตัวอย่างที่เห็นชัดจากพัฒนาการที่เกิดขึ้นแต่ละภูมิภาคต่างก็มีระเบียบวิธีเป็นของตนเองโดยใช้แนวคิดพื้นฐานบูรณาการให้ก้าวไปข้างหน้าได้ ถึงแม้ว่าเราไม่ใช่เจ้าของเทคโนโลยีก็ตามแต่เราสามารถสร้างระเบียบวิธีตามรูปแบบที่เป็นสากลได้
ทรงพล ยมนาค
Songphol Yomnak